“เป็นโควิดไม่เท่าไหร่ ไอซี่โครงบานนานกว่า”
หลังจากหายป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) แต่ละคนก็มีอาการต่างกันไป เช่น อาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ ฯลฯ อาการที่พบได้บ่อยและทำให้รำคาญใจก็คือ อาการไอ
ไอ คือการที่ทิศทางของพลังปอดเสียสมดุล ไม่ไหลเวียนลงล่าง แต่ดันย้อนขึ้นบนจึงทำให้เกิดเสียง
หรือไอบ้วนเป็นเสมหะ ซึ่งจัดเป็นอาการหนึ่งของโรคปอด
พลังปอด หรือ ชี่ของปอด มีทิศทาง ขึ้น-ลง เข้า-ออก ที่แน่นอน นอกจากควบคุมการหายใจแล้ว หน้าที่ของอวัยวะปอดในทางแพทย์จีนอย่างหนึ่งก็คือ ขับเคลื่อนน้ำ ควบคุมการไหลเวียนของเส้นทางน้ำในร่างกาย
ขอแนะนำ 4 จุดหยุดอาการไอ เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูพลังปอด และบรรเทาอาการ ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับการไอซี่โครงบานหลังเป็นโควิดจนเกินไปนัก
จุดทั้ง 4 จุดล้วนเป็นจุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณปอด ดังนั้นการกดจุดเหล่านี้นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการไอ ยังช่วยฟื้นฟูระบบการไหลเวียนของน้ำที่เสียสมดุลไป ระหว่างที่ร่างกายเราเจ็บป่วย เช่นอาการเสียงแหบ ปากคอแห้ง รู้สึกร้อนข้างใน
1.จุดฉื่อเจ๋อ 尺泽
‘จุดแอ่งน้ำ’
เนื่องจากตำแหน่งของจุดนี้อยู่บริเวณร่องข้อพับระหว่างข้อศอก ฝั่งนิ้วโป้ง มีลักษณะคล้ายแอ่งจึงเป็นที่มาของชื่อ
จุดฉื่อเจ๋อมีคุณสมบัติช่วยระบายความร้อนในปอด ละลายเสมหะ ควบคุมระบบทางน้ำในร่างกาย คลายเส้นเอ็น
การกดจุดนี้จะช่วยบรรเทาอาการไอ ไอมีเสมหะมาก หายใจเสียงดัง หายใจหอบ หายใจไม่สุด แน่นหน้าอก ปวดแขน ปวดข้อศอก ยกแขนไม่ขึ้น
ใช้นิ้วโป้งนวดคลึงประมาณ 3-5 นาที จะรู้สึกปวดหน่วงตรงจุดที่กด ทำสลับกันทั้งสองข้าง
2.จุดข่งจุ้ย 孔最
‘จุดหลุมน้ำขังซึม’
จุดนี้มีคุณสมบัติในการควบคุมพลังปอด ระบายร้อน หยุดเลือด ช่วยบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ หอบหืดเฉียบพลัน และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
วิธีง่ายที่สุดในการหาจุดนี้คือ นิ้วมือทั้ง 5 มาชิดกันแล้วทาบลงบนท้องแขนใต้เส้นรอยพับข้อศอก จุดจะอยู่ตรงนิ้วก้อย ฝั่งนิ้วหัวแม่มือ ใช้นิ้วโป้งนวดคลึงประมาณ 3-5 นาที จะรู้สึกปวดหน่วงตรงจุดที่กด ทำสลับกันทั้งสองข้าง
ความหมายของชื่อ ‘ข่งจุ้ย/จุดหลุมน้ำขังซึม’
孔 (ข่ง) แปลว่า หลุม โพรง
最 (จุ้ย) แปลว่า มาก หรือ ลึกที่สุด
'ข่งจุ้ย' เป็นจุดฝังเข็มที่น้ำจาก ‘จุดแอ่งน้ำ/尺泽’ รั่วซึมไปยังเส้นลมปราณม้าม หมายถึงจุดที่ถ่ายเทไปให้ม้ามกระจายน้ำต่อ และเป็นจุดศูนย์รวมพลังปอดซึ่งอยู่ลึกสุด จุดข่งจุ้ยจึงมักใช้รักษาโรคปอดที่มีอาการหนัก เฉียบพลัน และโรคเลือด เช่น วัณโรค ไอเป็นเลือด หอบหืด ริดสีดวง ฯลฯ
3.จุดเลี่ยเชวีย 列缺
‘จุดแพร่งสายน้ำ’
จุดนี้ช่วยเสริมการทำงานและกระจายพลังงานปอด กระจายลม เปิดทางให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยให้หายใจโล่ง บรรเทาอาการไอ หอบ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือจมูกไม่ได้กลิ่น
วิธีหาจุดคือประสานง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้เข้าหากัน จุดจะอยู่ตรงขอบกระดูกปลายนิ้วชี้ ใช้นิ้วนวดคลึงประมาณ 3-5 นาที จะรู้สึกปวดหน่วงตรงจุดที่กด ทำสลับกันทั้งสองข้าง
4.จุดอวี๋จี้ 鱼际
‘จุดสันเขื่อนปลา’
จุดนี้ช่วยระบายความร้อนในปอด เสริมพลังปอด หยุดอาการไอ ทำให้คอโล่ง หลอดลมปลอดโปร่ง จิตใจสงบ
จุดจะอยู่ตรงกึ่งกลางของกระดูกโคนนิ้วหัวแม่มือ ใช้นิ้วโป้งนวดคลึงประมาณ 3-5 นาที จะรู้สึกปวดหน่วงตรงจุดที่กด ทำสลับกันทั้งสองข้าง
มีคำกล่าวว่า “喉为肺之门户,鼻为肺之外窍” (หลอดลมเสมือนประตูของปอด ปอดปรากฏตัวที่จมูก) หากเราหมั่นทะนุบำรุง ‘ประตูของปอด’ ให้แข็งแรงสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ข้าศึกศัตรูซึ่งมาในรูปแบบของโรคภัย เข้ามารุกรานทำร้ายปอดของเราได้
การกดจุด การฝังเข็ม การรับประทานตำรับยาสมุนไพรจีน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยทะนุบำรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟู ประตูและพลังงานของปอดให้แข็งแรง ขอเชิญได้ที่แอคคิวเฮาส์คลิกนิกค่ะ
เรื่อง: แพทย์จีน อุบลรัศมี พ่วงจีน (หมออังกาษ)
ตกแต่งภาพ: แพทย์จีน มณีวรรณ วิวัฒน์คุณูปการ (หมอการ์ตูน)
--------------------
ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายล่วงหน้า
•Line : @acuhouseclinic https://lin.ee/ZuohRAB
•Facebook/Instagram : acuhouse_clinic
•Tel. 084-284-5150
แอคคิว เฮาส์ คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนเลขที่ 616/5 โครงการเดอะ พาร์ที บาย อารียา ถนนลาดปลาเค้า แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร https://goo.gl/maps/zKzPJG8WMHPnjvVe7
Commentaires