เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเจอผักหน้าตาแปลก ซึ่งหมอเองก็ไม่รู้ว่ามันคือผักอะไร จึงลองเอามาใส่ในสลัดกับผัดน้ำมัน ปรากฏว่ารสชาติอร่อยดี เสียแต่บาดคอเพราะไม่ได้เด็ดก้านออก หมอกำลังศึกษาต่อเรื่อง Nutritional Therapy หรือโภชนาการบำบัด และเรียนถึงบทว่าด้วยเรื่อง Phytonutrient (สารอาหารที่ได้เฉพาะจากพืช) ในตำราเรียนปรากฏผักชนิดหนึ่งชื่อว่า ‘วอเตอร์เครส’ (Watercress/水田芥/西洋菜) มีสรรพคุณน่าสนใจมาก พอไปค้นหาจึงได้รู้ว่ามันคือผักปริศนาที่กินไปเมื่อวันก่อนนี่เอง วอเตอร์เครส เป็นพืชน้ำขึ้นตามธรรมชาติ ลักษณะคล้ายผักเป็ดแต่ใบกลมกว่า ขอบใบไม่เรียบ ชาวยุโรปมักกินใบวอเตอร์เครสสดๆ เป็นผักสลัดหรือทำเป็นซุป ประเทศอินเดียใช้ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้าน ถ้านำใบมาคั้นน้ำสำหรับหมักผม เชื่อว่าจะทำให้ผมดกหนา แต่หากตำเป็นยาพอก จะช่วยรักษาอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโต ชาวตุรกีใช้เป็นสมุนไพรช่วยบำบัดอาการปวดท้อง โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจ
สรรพคุณทางโภชนาการ
วอเตอร์เครสมีแร่ธาตุหลายชนิดเช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม ฯลฯ ช่วยผลิตเม็ดเลือดแดง ลดความดัน ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด
เป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดี มีวิตามิน K ช่วยเสริมสร้างบำรุงกระดูก
มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน A B C และ E เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และมีสาร PEITC ปริมาณมาก เป็นสารช่วยยับยั้งมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ
ข้อควรระวัง เนื่องจากวิตามิน K สร้างสาร prothrombin และ factors VII, IX, X ซึ่งช่วยให้เลือดแข็งตัว และวอเตอร์เครสมีวิตามิน K ปริมาณมาก อาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยาบางชนิดได้ เช่นยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มวาฟาริน การบริโภควอเตอร์เครสเพียงวันละ 1 ถ้วย (34g.) จะช่วยให้เราได้รับปริมาณวิตามิน K ที่เหมาะสมในแต่ละวัน วอเตอร์เครสมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการช่วยยับยั้งและต้านมะเร็ง หลายคนจึงเชื่อว่าการกินเยอะๆ นั้นดี แต่อะไรที่มากเกินพอดี ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป หากกินมากอาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน หรือส่งผลต่อไตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนั้นผักและสมุนไพรทุกชนิดจึงควรกินในปริมาณที่พอเหมาะสม ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์
“กินผักให้เป็นยา อย่าเผลอกินผักจนเป็นพิษ”
หมออังกาษ เขียน หมอการ์ตูน ภาพประกอบ
อ้างอิงจาก: - Natalie Butler. All you need to know about watercress (https://www.medicalnewstoday.com/articles/285412.php), 19 Jan 2018. - Mirna Clemente, et.al.,(2019). Watercress, as a Functional Food, with Protective Effects on Human Health Against Oxidative Stress: A Review Study. International Journal of Medicinal Plants and Natural Products (IJMPNP), 5(3), pp.12-16. http://dx.doi.org/10.20431 /2454-7999.0503002 - Yamuna Pandey, Siddharth S. Bhatt and Nadia Debbarma. 2018. Watercress (Nasturtium officinale): A Potential Source of Nutraceuticals. Int.J.Curr.Microbiol.App.Sci. 7(02): 2685- 2691. doi: https://doi.org/10.20546/ijcmas.2018.702.325 - Steven Pratt, MD and Kathy Matthews (2004) HarperCollins Publishers Inc. Superfoods
コメント