
ฤดูกาลลี่ตง (立冬) เริ่มต้นฤดูหนาว เป็นสัญญาณบอกว่าฤดูหนาวของปีนี้มาถึงแล้ว ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มเหี่ยวเฉา เหล่าสัตว์แมลงเข้าสู่การจำศีล ลี่ (立) แปลว่า เริ่มต้น ตง (冬) แปลว่า ฤดูหนาว
ลี่ตง ฤดูกาลที่ 19 ของ 24 ฤดูลักษณ์ จะเกิดขึ้นราววันที่ 7-8 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน
#สรรพสิ่งเข้าสู่สถานะพักผ่อนและเก็บตัว แพทย์จีนเชื่อว่าฤดูหนาวเป็นฤดูแห่งการจำศีล กักเก็บ สะสม และเป็นช่วงเวลาของอวัยวะไต ตามทฤษฎีธาตุทั้ง 5 หากเปรียบอิน-หยางกับการใช้ชีวิต การทำงาน การใช้ร่างกาย การเรียนคือ หยาง การพักผ่อน ช่วงเวลาของการนอนหลับคือ อิน
ทางเกษตรกรรมของจีนถือว่าลี่ตงเป็นช่วงเวลาพักผ่อน หลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาของการบำรุง สะสมพลังทั้งภายในและภายนอกด้วย
ลี่ตง เป็นฤดูกาลสำคัญของชาวจีนนับแต่โบราณมา มีประเพณีและการเฉลิมฉลองมากมาย มักจะมีการกินเนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อกระต่าย ขาหมู กระเพาะหมู เพื่อบำรุงไต กระเพาะอาหาร ให้อวัยวะภายในช่วงเอวของร่างกาย รวมทั้งกระดูกและหัวเข่าให้แข็งแรง
#กินเกี๊ยวในฤดูหนาว ทางตอนเหนือของประเทศจีนนิยมกินเกี๊ยว รูปทรงของเกี๊ยวมีลักษณะเหมือนใบหู เพื่อสื่อความหมายถึงช่วยป้องกันความเย็นไม่ให้หนาวจนหูหลุด มีจุดเริ่มต้นสืบเนื่องมาจากแพทย์จีนนามว่า ‘จางจ้งจิ่ง (张仲景)’ คิดอาหารชนิดนี้ขึ้นเพื่อไว้รักษาคนที่ใบหูถูกกัดด้วยน้ำแข็ง
อีกนัยหนึ่ง คำว่าเกี๊ยวในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ‘เจี่ยวจื่อ (饺子)’ พ้องเสียงคำว่า เจียวจื่อ (交子) ที่แปลว่า ผลัดยาม หมายถึงช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนระหว่างฤดูใบไม้ร่วงสู่ฤดูหนาว
#ปรนนิบัติผิวตามแบบฉบับชาวจีนโบราณ ‘ส่าวเจี้ย (扫疥)’ คือการนำสมุนไพรจีน ได้แก่ดอกเก็กฮวย ดอกสายน้ำผึ้งมาต้มผสมน้ำอาบเพื่อบรรเทาและป้องกันโรคต่างๆ เช่นผื่นผิวหนัง ผิวแห้ง ผื่นคัน โรคหวัด และเสริมสุขภาพให้แข็งแรงตลอดช่วงฤดูหนาว ชาวจีนมณฑลเหอหนาน เจียงซู เจ้อเจียง นิยมตำรับนี้
ลี่ตง ย่างเข้าฤดูหนาว ถึงคราวดูแลอารมณ์ การดูแลตัวเองในช่วงฤดูกาลนี้ นอกจากควรให้ความสำคัญป้องกันความเย็น รักษาความอุ่นของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่าและข้อต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดแล้ว สุขภาวะอารมณ์ ก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจมากพอๆ กัน
เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว สรรพสิ่งเหี่ยวเฉา มักทำให้คนรู้สึกหดหู่ไปกับบรรยากาศ บางคนอาจรู้สึกอารมณ์อ่อนไหวมากเป็นพิเศษ ความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล โรคเครียด หรืออาการขี้หลงขี้ลืมก็ทวีคูณหนักขึ้นไปอีก อาการเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วยเช่นกัน ออกไปรับแสงแดดในยามเช้า หรือรับประทานวิตามินดีเสริม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกไปทำกิจกรรมที่สนใจ เพื่อช่วยยกระดับจิตใจอีกทางหนึ่ง
#ป้องกันความเย็นรักษาความอุ่น แพทย์จีนเชื่อว่าฝ่าเท้าและท่อนล่างของร่างกาย คือบริเวณที่ความเย็นเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ฤดูหนาวส่งผลต่ออวัยวะไต ไตเชื่อมกับกระดูก จึงควรดูแลไขข้อ เช่น ข้อมือ ข้อต่อสะโพก หัวเข่าและฝ่าเท้าให้อุ่นอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดเอว ปวดเข่า ปวดตามข้อ
ออกกำลังกายในสถานที่ซึ่งแดดส่องถึง ควรเน้นการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวช้า (静态运动) ยืดเหยียด บริหารกล้ามเนื้อเป็นหลัก เช่น โยคะ พิลาทิส ไท่จี๋ฉวน ฯลฯ แต่ไม่ควรใช้ร่างกายหนักหรือหักโหมมากจนเกินไป
ฤดูหนาวเป็นฤดูกาลที่เหมาะแก่การบำรุง ดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ เป็นช่วงเหมาะสมที่จะซ่อมแซมส่วนสึกหรอ เลี่ยงการกินอาหารดิบ ดื่มน้ำอุ่นให้มากขึ้นนะคะ
--------------------
ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายล่วงหน้า •Line : @acuhouseclinic https://lin.ee/ZuohRAB •Facebook/Instagram : acuhouse_clinic •Tel. 084-284-5150 แอคคิว เฮาส์ คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน เลขที่ 616/5 โครงการเดอะ พาร์ที บาย อารียา ถนนลาดปลาเค้า แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร https://goo.gl/maps/zKzPJG8WMHPnjvVe7
コメント