top of page

อาการปวดเส้นประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด

AcuHouse Clinic


คนไข้ที่หมอกำลังรักษา มีอาการปวดเส้นประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า PHN

คนไข้สตรี อายุ 52 ปี มีอาการปวดระบมตามแนวเส้นประสาทคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) ตั้งแต่ศีรษะ ใบหู กราม คาง เรื่อยมาจนถึงคอ บ่าและสะบักหลังฝั่งซ้าย ร่วมกับอาการคอแห้งกระหายน้ำ อ่อนแรง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ฯลฯ


Post-herpetic Neuralgia หรือ PHN คืออาการแทรกซ้อนหลังจากเป็นโรคงูสวัด โอกาสที่เกิดขึ้นมากหรือน้อยเป็นไปตามวัยของผู้ป่วย แม้แผลงูสวัดหายแล้ว แต่ความเจ็บปวดยังคงอยู่บริเวณที่เคยเกิดอาการ และอยู่นานกว่าหนึ่งเดือนขึ้นไปจนถึงขั้นนานนับปี


ลักษณะของความปวดมีทั้งปวดแสบร้อน ปวดระบม ปวดเหมือนเข็มทิ่ม หรือปวดเหมือนไฟฟ้าช็อต บางคนอาจมีอาการคัน หน่วงตึง กระตุก หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่อยู่ใต้ผิวหนังร่วมด้วย เนื่องจากเส้นประสาทบริเวณนั้นถูกทำลายเพราะติดเชื้อไวรัส Varicella-zoster (VZV) ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางถูกกระตุ้น และไวต่อการสัมผัสเป็นพิเศษ แม้แตะเบาๆ ก็รู้สึกเจ็บมาก ทางการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า อาการปวดเส้นประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด เกิดจากพิษร้อนชื้นที่ขจัดออกไม่หมด อุดกั้นอยู่ในเส้นลมปราณ ทำให้ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง จนกลายเป็นอิน(หยิน)พร่องชี่อ่อนแอ


阴 ‘อิน(หยิน)’ เปรียบดั่งน้ำ ความเย็นและความชุ่มชื้นในร่างกาย เมื่อถูกทำลาย คนไข้จึงมีอาการปากคอแห้งกระหายน้ำ รู้สึกร้อนผ่าวๆ หรือปวดแสบปวดร้อน ผิวพรรณแห้งกร้าน หน้าตาไม่สดชื่นเป็นต้น คนไข้ PHN นอกจากจะต้องเผชิญความเจ็บปวดแล้ว ยังมีปัญหานอนไม่หลับร่วมด้วย ทำให้การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะกดดันทางอารมณ์และจิตใจจึงตามมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก


หลักการรักษาทางแพทย์แผนจีนคือ กระตุ้นเลือดสลายคั่ง พยุงเจิ้งชี่ (ภูมิคุ้มกัน) เพื่อยับยั้งอาการปวดเป็นหลัก โดยใช้ยาสมุนไพรจีน ซึ่งมีทั้งยาสำหรับภายนอกเป็นยาพอก และตำรับยาสำหรับดื่มเพื่อรักษาภายใน ควบคู่กับการฝังเข็มไปตามเส้นลมปราณ หรือใช้เข็มดอกเหมย (เข็มเคาะผิวหนัง สำหรับเจาะปล่อยเลือด) เพื่อขับพิษระบายความร้อน


แพทย์จีนมักอ้างถ้อยคำในตำรา

หวงตี้เน่ยจิงอยู่บ่อยๆ กล่าวว่า 《黄帝内经》:正气存内 邪不可干 ‘เมื่อใดพลังต้านทานยังดี โรคภัยก็ไม่แผ้วพาน’

อย่าลืมดูแลพลังต้านทานของเราให้ดี ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาอารมณ์ให้แจ่มใสนะคะ

*ปัจจุบัน เพิ่มภูมิต้านได้อีกวิธีหนึ่งคือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด อ้างอิงจาก:

- 承秀吉, 孙忠人, 尹洪娜。针灸治疗带状疱疹后遗神经痛有效性和安全性 的Meta分析。中国中医急症,2021,30(12):2083-2089.

- Johnson RW, Rice AS (October 2014). "Clinical practice. Postherpetic neuralgia". The New England Journal of Medicine (Review). 371 (16): 1526–33. doi:10.1056/NEJMcp1403062. PMID 25317872.

 
 
 

Comments


-----------------------------------------------------------------------------------------------

  • Facebook
  • Twitter
  • @acuhouseclinic
  • Instagram
bottom of page