
“เมื่อฝังเข็มแล้ว เข็มนำกลับมาใช้ซ้ำไหม” “เอาไปทิ้งที่ไหน กำจัดอย่างไร”
เข็มฝังเข็มที่ใช้ในปัจจุบันนิยมทำด้วยสแตนแลส เพราะน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นมาก ข้อสำคัญคือไม่เป็นสนิม ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง เข็มที่ใช้ต้องเป็นเข็มได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อมาแล้ว ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำอีก
เข็มที่ใช้แล้วนับเป็น ‘ขยะติดเชื้อ’ เช่นเดียวกับเข็มฉีดยา เข็มฉีดวัคซีน สำลี ถุงมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ ต้องแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากบริษัทกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ จะมานำไปทำลาย

ขยะติดเชื้อจะถูกนำเข้าเตาเผา เตาแรกคือเผามูลฝอย อุณหภูมิการเผาไม่ต่ำกว่า 760 °C เตาที่สองเผาควันซึ่งเกิดจากห้องเผาแรกเผาด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1200 °C กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา ในการเผาไหม้อย่างเหมาะสม และต้องควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาด้วย ควันซึ่งถูกเผาไหม้ในเตาเผาที่สอง ถูกบำบัดมลพิษทางอากาศโดยใช้ระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (Wet scrubber) คือการใช้น้ำหรือของเหลวพ่นลงมาสวนทางกับอากาศที่ลอยขึ้น เพื่อดักจับฝุ่น กลิ่น ควัน ทำให้อากาศที่ถูกปล่อยออกจากปล่องควันไม่เป็นมลพิษเกินค่ามาตรฐาน ตะกอนที่เกิดจากการเผา หลังจากนำไปบำบัดเถ้า จะถูกกำจัดโดยการฝังกลบ แล้วปูทับด้วยดินเหนียวอีกชั้นหนึ่ง น้ำที่ใช้จะไหลเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย กลายเป็นน้ำทิ้งในที่สุด
การฝังเข็มในปัจจุบันจึงเชื่อได้ว่าปลอดภัยจากเข็ม
#ขอขอบคุณข้อมูลจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
Comments