โรคลมแดด (中暑/Heatstroke)
- angkart0
- 5 พ.ค. 2566
- ยาว 1 นาที

โรคลมแดด (中暑/Heatstroke)
เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงมาก (40 °C ขึ้นไป นานกว่า 10-15 นาที) การหลั่งเหงื่อระบายความร้อนไม่ได้ผล ระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล สาเหตุเนื่องจากระบบปรับอุณหภูมิในร่างกายหยุดชะงัก อาจเปรียบเทียบได้กับเมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวนและหยุดทำงานชั่วขณะเมื่ออากาศร้อนจัด อาการชัดเจนของโรคลมแดดคือ รู้สึกว่าบ้านหมุน เวียนศีรษะ ริมฝีปากชา หรือถึงขั้นหมดสติ อาการเหล่านี้เคยเรียกกันว่า ‘โรควูบแดด’ หรือ ‘ตะคริวแดด’
การแพทย์แผนจีน โรคลมแดดเรียกว่า ‘จ้งฉู่’ (中暑) เกิดจาก ‘ฉู่เสีย (暑邪)’ หรือ ‘ความร้อนอบอ้าว’ ก่อให้เกิดโรค แบ่งออกเป็นสองแบบคือ ‘ชางฉู่ (伤暑)’ กับ ‘จ้งฉู่ (中暑)’ ‘ชางฉู่’ เกิดโรคช้า อาการไม่รุนแรง ‘จ้งฉู่’ เกิดโรคเร็ว เฉียบพลัน อาการรุนแรง
ความร้อนอบอ้าว จัดเป็นหยาง ลักษณะเหมือนไฟที่แผดเผาลุกโชน มีอาการแสดงออกดังนี้ ตัวร้อนจัด กระสับกระส่าย หน้าแดง ชีพจรเต้นแรงและเร็ว ในตำราจะเปรียบเทียบลักษณะชีพจรนี้คล้ายคลื่นลูกใหญ่ถาโถม
ความร้อนอบอ้าว มีลักษณะกระจายขึ้นบน รบกวนจิตใจและสติสัมปชัญญะ กระทบบริเวณศีรษะและดวงตาได้ง่าย จึงทำให้เกิดอาการอึดอัด แน่นหน้าอก กระวนกระวาย เวียนศีรษะตาลาย หน้าแดง เมื่อความร้อนอบอ้าวกระทบร่างกาย ทำให้รูขุมขนเปิดจึงเกิดอาการเหงื่อออกมาก
ในตำราหวงตี้เน่ยจิงซู่เวิ่นบันทึกไว้ว่า ‘ความร้อนขับชี่ออก’ 《素问•举痛论》:“炅则气泄” หมายถึง เมื่อเหงื่อออกมาก ไม่เพียงทำลายของเหลวในร่างกาย ชี่หรือพลังงานก็ถูกทำลายไปด้วย ยิ่งกว่านั้น หากชี่และของเหลวถูกทำลายมากจนเกินไป สมองจะเริ่มไม่ทำงาน เหมือนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีอาการติดๆ ดับๆ ตามด้วยหมดสติไม่รู้สึกตัวเฉียบพลัน

โรคลมแดดแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ - สัญญาณเตือนอาการแรกเริ่ม: เวียนศีรษะ กระหายน้ำ เหงื่อออกเยอะ แขนขาอ่อนเปลี้ยไม่มีแรง - ระดับปานกลาง: หน้าซีด แขนขาเย็นชื้น ความดันลดลง ชีพจรเร็วจี๋ - ระดับรุนแรง: หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ตัวร้อนจัด ร่างกายชักเกร็ง หรืออวัยวะภายในล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิต
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น - โทรเรียกรถฉุกเฉิน 1669 - ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดบริเวณลำคอและตามข้อพับเพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
วิธีป้องกันโรคลมแดด - สวมหมวกเมื่อต้องอยู่ในที่กลางแจ้ง - สวมเสื้อผ้าโปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกิดไป - ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองขาดน้ำ
ในช่วงที่อากาศร้อน อ่างเก็บน้ำในร่างกายเราจะเหือดแห้งไวกว่าปกติ หมั่นเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำในร่างกายเราเต็มอยู่เสมอด้วยการดื่มน้ำเยอะๆ
นอกจากการดื่มน้ำแล้ว ขอแนะนำอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีและมีประโยชน์ นั่นก็คือดื่มชาข้าวบาร์เลย์ ชาข้าวบาร์เลย์คั่ว (大麦茶) มีแคลอรีต่ำ อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ นิยมดื่มในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่นจีน ญี่ปุ่น ข้าวบาร์เลย์ (大麦) มีสรรพคุณคลายร้อน แก้กระหาย เสริมชี่บำรุงร่างกาย ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ทำให้เลือดเย็น ไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะจะทำให้น้ำนมแห้ง (อ้างอิงสรรพคุณจากตำรา: 《别录》《唐本草》《本草纲目》)
ในช่วงอากาศร้อนแบบนี้ ที่แอคคิวเฮาส์คลินิก ได้จัดเตรียมชาข้าวบาร์เลย์คั่ว กับชาดอกกาแฟหอมเย็นชื่นใจ ไว้ต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนด้วยค่ะ
อ้างอิง: -Heat stress-heat related illness. Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/.../heatstress/heatrelillness.html. Accessed Aug. 6, 2020. -https://www.mayoclinic.org/.../symptoms-causes/syc-20353581 -《中医基础理论》,孙广仁 主编 -《中医诊断》,朱文锋 主编
Comments